เศรษฐา ปัดฝุ่น ทัวร์นกขมิ้น-นายกฯ พบประชาชน ย้อนรอย ทักษิณ ฟีเวอร์

03 พ.ค. 2567 | 11:26 น.

"ทีมงานเศรษฐา" เดินตามรอยทักษิณ-ทัวร์นกขมิ้น ค่ำไหนนอนนั่น ปัดฝุ่น รายการ "นายกฯพบประชาชน" สื่อสารทางตรงถึงประชาชน โกยเรทติ้งรับ "ครม.ชุดใหม่"

KEY

POINTS

  • "เศรษฐา ทวีสิน" ยึดโมเดลทักษิณ ทัวร์นกขมิ้น-ปัดฝุ่น รายการ "นายกฯพบประชาชน"
  • เปิดงบกรมประชาสัมพันธ์ "สื่อของรัฐ" เครื่องมือทรงพลังของทุกรัฐบาลที่ต้องเรียกใช้บริการเสริม 
  • "สุรนันทน์ เวชชาชีวะ" อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ย้อนตำนาน-เล่าเบื้องหลังทัวร์นกขมิ้น-รายการ "สองนายกฯพี่-น้อง ชินวัตร" พบประชาชน 

7 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตั้งหลักด้วยการปรับ “ครม.เศรษฐา 1/1” ก่อนเดินหน้าลุยงานหนักในช่วง "ครึ่งหลัง" ของปี 67 

การ “เสริมทัพ” ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ได้แก่ นายพิชิต ชื่นบาน นายจักรพงษ์ แสงมณี และ น.ส.จิราพร สินธุไพร ล้วนเป็น “คนใกล้ชิด” ของตระกูลชินวัตร และ “คนไว้ใจ” ของอดีตซีอีโอแสนสิริ 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เตรียมตัวเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ที่ทำเนียบรัฐบาล

"เศรษฐา" ปักหมุดปฏิทินเดือนพฤษภาคม 2567 จัดตารางลงพื้นที่ 6 จังหวัด 

  • 5 - 6 พฤษภาคม 2567 จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด
  • 10 พฤษภาคม 2567 จังหวัดสุพรรณบุรี
  • 11 พฤษภาคม 2567 จังหวัดกาญจนบุรี 
  • 12 พฤษภาคม 2567 จังหวัดราชบุรี 

ปิดท้ายด้วยการประชุม “ครม.สัญจร” ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤษภาคม 2567 ที่จังหวัดเพชรบุรี  

ขณะที่โปรแกรมเดินสายต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2567 เดินทางไปฝรั่งเศสและอิตาลี และ วันที่ 22-24 พฤษภาคม 2567 เดินทางไปญี่ปุ่น

ย้อนกลับไป "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" ถือเป็น "ต้นแบบ" ของการลงพื้นที่พบปะประชาชนชนิด ตาดูดาว-เท้าติดดิน ค่ำไหนนอนนั่น ภายใต้ชื่อ “โครงการที่นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมสอบถามปัญหาของประชาชน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล หรือ “ทัวร์นกขมิ้น”  

“สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณเล่าที่มา-ที่ไปของคำว่า “ทัวร์นกขมิ้น” ที่สื่อตั้งให้ 

“คุณทักษิณเป็นคนพูดว่าเหมือนนกขมิ้น ค่ำไหนนอนนั่น ไปตรวจราชการค่ำไหนนอนนั่น จึงเรียกว่า ทัวร์นกขมิ้นมาตั้งแต่สมัยนั้น”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สวนทุเรียน-สวนนวลทองจันทร์ จังหวัดจันทบุรี

ส่วน “แก่นแท้” ของ “ทัวร์นกขมิ้น” จะเหมือนใน "ยุครัฐบาลทักษิณ" หรือไม่ “สุรนันทน์” ตำนานที่ยังมีชีวิตบอกว่า เหมือนกัน แต่นายทักษิณทำอะไรอีกหลายอย่าง เช่น นอนอยู่ร้อยเอ็ด เข้าถึงประชาชน เป็นรูปแบบความสำเร็จที่สามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน  

"เป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในยุคคุณทักษิณ ไม่ว่าจะรัฐบาลยุคไหนก็ตาม แม้กระทั่งในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไปต่างจังหวัด ทุกคนมีแฟนคลับ ไปรับรู้ปัญหาของจังหวัดได้เยอะ อาจแก้ไม่ได้ทันที แต่มีการสั่งการ ถ้ามีครม.สัญจรก็สามารถรวบรวมโครงการต่าง ๆ มาเข้าที่ประชุมและหลายโครงการเอาไปพัฒนาตามคำขอของจังหวัดได้"

“แม้ระบบการสื่อสารในปัจจุบันจะแตกต่างจากอดีตมาก แต่การได้เจอตัวเป็น ๆ ของคน ความรู้สึกมันผิดกัน นายกรัฐมนตรีและคนรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทยหลายคนที่ไม่ได้เป็น สส.ควรได้สัมผัสประสบการณ์นี้”

ที่ผ่านมาตั้งแต่นายเศรษฐาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่ครั้งแรก แต่เพราะสาเหตุใดคำว่า “ทัวร์นกขมิ้น” จึงถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นพูดถึงขึ้นมามากขึ้นอีกครั้ง

ศูนย์ข้อมูลภูเก็ตเผยแพร่ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

“หนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ สอง ทำให้ภาพของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไปด้วยติดดิน ขณะเดียวกันในเชิงสาระ การได้ไปพูดจาตัวต่อตัว ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ข้าราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้รับรู้มุมมองหนึ่ง เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไปมาก ๆ ฉาบฉวย

หรือบางจังหวะ ระบบจังหวัดจัดฉาก เกณฑ์คน ทำให้ไม่ได้เห็นของจริง ในสมัยคุณทักษิณก็มี แต่ก็ลุยไปถึงหมู่บ้านเองก็มี นอนค้างก็มี นอนวัดก็มี วันดีคืนดีคุณเศรษฐาก็อาจจะนอนวัดก็ทำได้ เพราะถึงลูกถึงคน”

สมัยรัฐบาลทักษิณ “สุรนันทน์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นเป็นประธานการประชุมเพื่อสรุปผลการตรวจติดตามโครงการ “ทัวร์นกขมิ้น” รวม 24 หน่วยงาน 180 โครงการ 8,913 ล้านบาท เข้าที่ครม.ในเวลาต่อมา

“ผมกลับมานอนคิดแล้ว พูดตรง ๆ บางทีไม่ได้ เพราะบางโครงการถูกยัดเข้ามา ตอนนั้นคุณทักษิณจะส่งรัฐมนตรีออกไปตามสายต่างๆ ในพื้นที่ตามต่างจังหวัด แบ่งงานกันดูและรวบรวมกลับมา โดยมีสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณเป็นตัวกลางเอาโครงการมาดูว่า โครงการนี้ติดอะไร

หรือเคยของบประมาณไว้ไหม ซ้ำซ้อนหรือไม่ แล้วรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผมช่วยสกรีนงาน โครงการไหนที่ผ่านการประเมินของหน่วยงานราชการมาและเสนอครม.อนุมัติได้ มีงบประมาณเพียงพอ ถ้าทำได้ก็เป็นประโยชน์กับประชาชน”

อย่างไรก็ตามปัญหาปัจจุบันใหญ่ รุกเร้า หมักหมม ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องไม่อยู่กับการลงพื้นที่มากเกินไป เพราะวันนี้โจทย์อยู่ที่ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ต้องมีเวลานั่งประชุมวางยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาว ไม่ใช่แค่ประชานิยม แจกเงิน 10,000 บาท

“ประชาชนคาดหวังว่า นายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลต้องมานั่งคุยกันว่า โครงสร้างเศรษฐกิจที่จะไปต่อสู้ในยุคสมัยใหม่ คือ อะไร สามารถแข่งขันได้ คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือ โครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมิติของความมั่นคงเข้ามา”

มิติในยุคของรัฐบาลทักษิณ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 40 เสียงของประชาชนมีส่วนร่วมมาก รัฐบาลต้องให้ประชาชนจับต้องได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า นายทักษิณทำให้ไทยรักไทยเป็นของประชาชนที่ประชาชนจับต้องได้ นายกรัฐมนตรีจับต้องได้ 

“นายกฯเศรษฐาควรจะลงไปเจอประชาชน แต่ควรใช้เวลาส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่ นั่งนิ่งๆ ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนประเทศในเชิงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง”

นอกจากนี้ "ทีมงานเศรษฐา" ยังออกแบบผังรายการ “นายกฯเศรษฐา พบประชาชน” ผ่านสื่อของรัฐทุกแพลตฟอร์ม โดยมีแม่ข่ายหลัก-รองอย่างช่อง NBT  และ MCOT เริ่มออกอากาศครั้งแรก วันที่ 11 พฤษภาคม 2567  รูปแบบรายการเป็นการพูดคุยสบาย ๆ โดยมี "พิธีกรคนดัง" แวะเวียนกันมาดำเนินรายการ-ป้อนคำถาม  

สำหรับกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับงบประมาณในปี 67 รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,414,341,800 บาท เป็น “งบรายจ่ายอื่น” จำนวนรวมทั้งสิ้น 15,339,900 บาท ประกอบด้วย

  • ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว จำนวน 1,977,000 บาท 
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ จำนวน 3,462,900 บาท 
  • ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 2,900,000 บาท 
  • ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ 7,000,000 บาท 

โครงการข้อมูลข่าวสารนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ จำนวน 634,440,000 บาท แบ่งออกเป็น 

  • ขับเคลื่อนการผลิตและเผยแพร่สื่อเพื่อสร้างการรู้เท่าทันสื่อ จำนวน 437 ล้านบาท 
  • เพิ่มประสิทธิภาพระบบคลังข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ภาครัฐเชิงรุก จำนวน 88 ล้านบาท 
  • การดำเนินงานด้านการข่าวโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง จำนวน 107 ล้านบาท
  • การสำรวจความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน 2.5 ล้านบาท  

เป็นการเติมข่าวสารของรัฐบาล หลังจากก่อนหน้านี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า การเดินทางไปต่างประเทศของนายเศรษฐาที่ผ่านมา  6 เดือน 14 ประเทศ ประชาชนได้อะไร 

เศรษฐา ปัดฝุ่น ทัวร์นกขมิ้น-นายกฯ พบประชาชน ย้อนรอย ทักษิณ ฟีเวอร์

จนรัฐบาลต้องออก “แท็บลอยด์” ภายใต้หัวข้อ “GNITE THAILAND Bulletin”  เพื่อประชาสัมพันธ์การเดินทางของนายเศรษฐา 6 เดือน 14 ประเทศ ภารกิจต่างแดน เปิดประตูประเทศไทย ไปสู่เวทีโลก 

ขณะที่ “งบประชาสัมพันธ์เชิงรุก” ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประกาศจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง โครงการ จ้างทำ LINE Official Account เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารรัฐบาลเชิงรุก วงเงิน 2,467,600 บาท

โดยเป็นค่าบริหารจัดการ LINE Official Account จำนวน 5 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2567) แบ่งออกเป็น

  • ค่าบริการด้านระบบ LINE Official Account จำนวนไม่น้อยกว่า 128 ข้อความ 
  • ค่าบริการด้านระบบ LINE Voom จำนวนไม่น้อยกว่า 357 ข้อความ 

เช่นเดียวกัน "รัฐบาลทักษิณ" ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้ "สื่อของรัฐ" ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ผ่านรายการ “นายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทางคลื่น F.M.92.5 เป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 08.00 น. – 08.30 น. ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2544 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2544

โดยมี “ยงยุทธ ติยะไพรัช” เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น  

แม้กระทั่ง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ก็มีรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ออกอากาสทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-09.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2556 

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลทักษิณ 1

ในช่วงแรก “สุรนันทน์” เป็นพิธีกร ต่อมา “ธีรัตถ์ รัตนเสรี” โฆษกรัฐบาล และ “ดวงพร อัศววิไล” มาเป็นพิธีกรสมทบตามลำดับ ทางช่อง สทท. หรือ ช่อง 11 เดิม โดยมีรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเวียนมาออกรายการ

“คุณยิ่งลักษณ์พูดคนเดียวไม่เก่งเท่าคุณทักษิณ ในที่สุดเราใช้สไตล์ที่นายกฯหลายคนใช้ คือ มีคนมาสัมภาษณ์ คุณยิ่งลักษณ์ก็เล่าว่าไปทำอะไรมาบ้าง แต่ยุคนี้พูดเป็นชั่วโมงคนไม่ฟัง อย่างมากที่สุด 15 นาที อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบ ขึ้นอยู่กับบุคคลิกของแต่ละคน” 

“นายกฯเศรษฐาต้องให้ทีมงานศึกษาดี ๆ ให้คนสนใจ ประเด็นสั้น ๆ พูดตรงประเด็น มีสาระ และต้องมี เพราะเหมือนกับเป็นการรายงานประชาชนว่าไปทำอะไรมาบ้าง”นายสุรนันทน์ทิ้งท้าย