ความเป็นไปได้ แก้ไขข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา”

12 เม.ย. 2567 | 09:44 น.

การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของวุฒิสภา เรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสร้างความวิตกกังวลเกินเหตุให้กับสังคมไทยว่า การดำเนินการใด ๆ ภายใต้ MOU ฉบับ ปี 2544 นั้นมีแต่จะทำให้ไทยเสียประโยชน์และอาจจะนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคต

วุฒิสมาชิกที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปราย ต้องการให้รัฐบาลยกเลิก MOU ดังกล่าว แล้วขอเปิดการเจรจาเสียใหม่ เพื่อให้กัมพูชาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่ ตามความปรารถนาของฝ่ายไทย ซึ่งอ้างเรื่องความเสี่ยงในการเสียเกาะกูดเป็นประเด็นหลัก

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงชัดเจนว่า ไม่มีเหตุผลที่คนไทยจะต้องกังวลเรื่องเกาะกูด เพราะเป็นของไทยอยู่แล้ว ทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย ปัญหาที่จะต้องพิจารณาคือ จะดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจปี 2544 เพื่อแบ่งพื้นที่ที่จะต้องแบ่งกันเหนือเส้นละติจูด ที่ 11 องศาเหนือ และทำระบอบพัฒนาร่วมเพื่อใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ พร้อมกันให้เป็นแพ็กเกจเดียวกันโดยไม่แบ่งแยกได้อย่างไร

ความเป็นไปได้ แก้ไขข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา”

รวมถึงได้ชี้แจงจุดยืนของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า การเจรจาภายใต้กรอบของบันทึกความเข้าใจปี 2544 คือให้มีการเจรจาเพื่อแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน เพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกันน่าจะเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่า บันทึกความเข้าใจปี 2544 นั้น เป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวที่กำหนดให้ไทยและกัมพูชาแก้ไขข้อพิพาทเรื่องนี้ ด้วยการเจรจาจนเป็นที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย อีกทั้งเอกสารนี้ ได้ให้กลไกและแนวทางตามกฎหมายระหว่างประเทศเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การเจรจาปัญหาข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตทางทะเล นับแต่ครั้งแรกระหว่างวันที่ 1-5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ที่กรุงพนมเปญ นั้นฝ่ายไทยได้แสดงจุดยืนและการตีความสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ว่าเกาะกูดนั้นเป็นของไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งได้โต้แย้งว่า การกำหนดเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ได้สัดส่วนกับเส้นฐานที่ควรจะเป็นเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

อีกทั้ง การเจรจาครั้งต่อ ๆ มาในห้วงระยะเวลา 30 ปี ก่อนที่จะได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจปี 2544 ก็อยู่ในแนวเดิมนี้ตลอด คือพยายามเสนอให้กัมพูชาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปเสียใหม่ตามความปรารถนาของฝ่ายไทย แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย

ในเมื่อการเจรจานอกกรอบบันทึกความเข้าใจนี้ไม่เป็นผล และการบอกเลิกบันทึกฉบับนี้ก็ไม่เป็นผลอีกเช่นกัน สิ่งที่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ควรจะต้องช่วยกันคิดในเวลานี้คือ ทำอย่างไรให้การดำเนินการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจปี 2544 มีความเป็นไปได้และประสบผลสำเร็จ

ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่สุดของ MOU ฉบับนี้ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสที่จะได้ปรับปรุงเส้นเขตแดนทางทะเลและความท้าทายในเวลาเดียวกัน คือ ข้อกำหนดที่ว่าให้เจรจาแบ่งเขตทางทะเล และพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันไปพร้อมกันในลักษณะที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้ หมายความว่า ห้ามแยกดำเนินการทั้งสองเรื่องนี้เป็นเอกเทศ นั่นคือข้อเสนอของวุฒิสมาชิกให้เจรจาเรื่องเขตแดนอย่างเดียว หรือ ข้อเสนอของบางฝ่ายในรัฐบาลที่ว่าให้เจรจาเฉพาะเรื่องพัฒนาร่วมแบ่งปันผลประโยชน์เรื่องก๊าซอย่างเดียว ล้วนแล้วแต่ขัดกับเจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจทั้งสิ้น

การเจรจาพร้อมกันในลักษณะที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้นั้น มีความเป็นไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ ประการแรก เจรจาจนได้แนวเส้นที่จะต้องแบ่งกันในพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือให้จบก่อน แล้วจึงลากเส้นที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับให้ได้สัดส่วนกันลงไปยังพื้นพัฒนาร่วม ผลคือจะทำให้ขนาดของพื้นที่ทับซ้อนบริเวณนั้นอาจจะมีขนาดเล็กลง และการเจรจาอาจจะยืดเยื้อและหาข้อตกลงไม่ได้

ประการที่สอง เจรจาเพื่อแบ่งเขตทางทะเลไปพร้อม ๆ กับการจัดตั้งระบอบพัฒนาร่วม โดยกำหนดให้ผลการเจรจาทั้งสองส่วนนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อกันหรือกระทบในสัดส่วนที่น้อยคือ เจรจาแบ่งเขตแดนไปพร้อม ๆ กับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาร่วม พร้อมกำหนดเงื่อนไขสำหรับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พัฒนาร่วมซึ่งอาจเป็น 50 ปี หรือ 100 ปี หรือตามแต่จะตกลง หากวันใดสามารถเจรจาเรื่องเขตแดนได้ ค่อยจัดแบ่งเขตแดนในพื้นที่พัฒนาร่วมให้สอดคล้องได้สัดส่วนกับพื้นที่ด้านบน หลังจากได้พัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์ไปกันระยะหนึ่งแล้ว หรือผลิตก๊าซมาใช้จนหมด ก็เป็นกรณีที่ประเทศอื่นทำกันมาแล้ว

ภายใต้บันทึกความเข้าใจปี 2544 นั้น อาจจะมีทางเลือกและความเป็นไปได้แบบอื่น ๆ ได้อีก ทั้งนี้จะต้องผ่านการเจรจาด้วยท่าทีซึ่งรอมชอม ประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยคำนึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ การเจรจาบนพื้นฐานที่ไม่ยืดหยุ่นเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ คงจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน