ไทยสแน็คบูม ‘สยาม เอ็ม ซี’ ทุ่ม 200 ล้านเพิ่มกำลังผลิต รับดีมานด์พุ่ง

28 เม.ย. 2567 | 03:48 น.

“สยาม เอ็ม ซี” สยายปีกรุกตลาดไทยสแน็ค ทุ่มงบลงทุน 200 ล้านบาท ขยายโรงงาน เพิ่มเครื่องจักร เพิ่มกำลังผลิตหลังดีมานด์ “ข้าวแต๋น” โตก้าวกระโดด พร้อมเดินหน้าบุกตลาดทั่วโลก มั่นใจสิ้นปีกวาดรายได้ 720 ล้าน

 นายประสงค์ ลิ้มเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เอ็ม ซี จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทมีแผนใช้งบลงทุนราว 200 ล้านบาท ในการขยายโรงงานและเพิ่มเครื่องจักรใหม่ที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตจาก 1 ล้านชิ้นต่อวันเป็น 3 ล้านชิ้นต่อวัน หลังจากพบว่า ข้าวแต๋นได้รับความนิยมอย่างมากจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่ชื่นชอบข้าวแต๋นของไทย ซึ่งมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ

ด้วยจุดเด่นที่เป็นเมล็ดข้าว และมีรสชาติที่หลากหลาย โดยปัจจุบันบริษัทได้พัฒนาข้าวแต๋น ภายใต้แบรนด์ Bangkok Cookies ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น รสลาบ รสต้มยำ รสแกงกะหรี่ รสแกงเขียวหวาน และรสผลไม้ต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ไทยสแน็คบูม ‘สยาม เอ็ม ซี’  ทุ่ม 200 ล้านเพิ่มกำลังผลิต  รับดีมานด์พุ่ง

ทั้งนี้บริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนา Bangkok Cookies ให้เป็นสินค้าขนมไทยที่โด่งดังระดับโลก โดยจะเน้นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง การขยายกำลังการผลิตข้าวแต๋นในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล

บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ารวม 4 แบรนด์ ได้แก่ 1. Bangkok Cookies ขนมข้าวกรอบรสชาติไทย จำหน่ายเฉพาะที่คิงพาวเวอร์ ดาวน์ทาวน์ 4 สาขา ได้แก่ รางน้ำ, ศรีวารี, พัทยา และภูเก็ต ในสนามบิน 4 สาขา ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต และหาดใหญ่ รวมทั้งคิงพาวเวอร์ ออนไลน์ 2. Metem ขนมข้าวกรอบมีวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ประเทศจีน

3. Fruitland ผลไม้แปรรูปส่งออก 17 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ฝรั่งเศส, เกาหลีใต้ ฯลฯ รวมทั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย 4. Toffruit ขนมเยลลี่ วางจำหน่ายในคิงพาวเวอร์ ทุกสาขาและออนไลน์ โดยเป็นตลาดส่งออก 70% และขายในประเทศ 30% โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ Fruitland คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของรายได้ทั้งหมด

 นายประสงค์ ลิ้มเจริญ

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ด้านกลยุทธ์การทำตลาดบริษัทเน้นการทำตลาดแบบผสมผสาน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง ทั้งการตลาดออนไลน์โดยใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลาย เช่น เว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย และอีคอมเมิร์ซ ในการนำเสนอข้อมูลสินค้า โปรโมชั่น กิจกรรม และสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า

ส่วนการตลาดออฟไลน์มุ่งเน้นกิจกรรมเชิงรุก เช่น การออกบูทตามงานแสดงสินค้า การสาธิตการทำอาหาร การแจกตัวอย่างสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงกับลูกค้า ช่วยให้ลูกค้าได้สัมผัสอยากลองชิมสินค้า และยังช่วยกระตุ้นความสนใจ สร้างความมั่นใจ และดึงดูดลูกค้าได้อีกด้วย

นายประสงค์ กล่าวว่าเทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ต่างโหยหาประสบการณ์การลิ้มลองรสชาติที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำจำเจ นอกจากนี้ผู้บริโภคยุคใหม่นิยมซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก ด้วยเหตุผลหลักๆคือ พกพาสะดวก เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ สามารถควบคุมปริมาณการบริโภค ลดโอกาสการทานเกิน นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กมักมีตัวเลือกสินค้าหลากหลายรสชาติ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใฝ่หาความแปลกใหม่ และสุดท้ายบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กมักมีราคาที่ย่อมเยา เข้าถึงได้ง่าย

สำหรับผลประกอบการของสยาม เอ็ม ซี ในปี 2564 มีรายได้รวม 111 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้รวม 203 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้รวม 500 ล้านบาท โดยในปี 2567 ตั้งเป้าหมายที่จะเติบโต 10% หรือมีรายได้ราว 720 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำรายได้กว่า 174 ล้านบาท

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,987 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567